เวลาเลือกซื้อผักผลไม้ในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เกต มักจะเห็นตรามาตรฐานมากมายบนถุงบรรจุ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ตราเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นคนระบุ เรามาทำความรู้จักตราเหล่านี้กันค่ะ

เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร Q Mark
โดย สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
Q Mark เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกันคือ เครื่องหมาย Q เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเครื่องหมายนี้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความปลอดภัย พร้อมทั้งยังสื่อไปถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
การรับรองเครื่องหมาย Q จะเป็นการรับรองตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค (From Farm To Table) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดรหัสประกอบการแสดงเครื่องหมาย Q เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้กรณีที่มีการปลอมแปลงเอกสารใบรับรอง หรือกรณีตรวจพบสินค้ามีปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของเครื่องหมาย Q
ประเภทการรับรองเครื่องหมาย Q
การรับรองเครื่องหมาย Q แบ่งประเภทการรับรองออกเป็นสองประเภทได้แก่
1. การรับรองสินค้า (Product Certification) หมายถึง การตรวจสอบให้การรับรองสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย (Finished Product) โดยมีการสุ่มตัวอย่าง ทดสอบ และตรวจสอบว่าสินค้ามีคุณลักษณะทางด้านคุณภาพและความปลอดภัยเป็นไปตาม มาตรฐาน สินค้าเกษตรและอาหาร และมาตรฐานทั่วไปด้านความปลอดภัย รวมทั้งตรวจประเมินระบบหรือกระบวนการผลิตด้วย
2. การรับรองระบบ หมายถึง การตรวจประเมินให้การรับรองกระบวนการผลิตโดยคลอบคลุมกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้ตามมาตรฐาน
เช่น
– การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ การปฏิบัติทางประมงที่ดี (Good Agricultural Practice (GAP))
– เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture)
– การปฏิบัติที่ดี หรือ หลักเกณฑ์การปฏิบัติด้านสุขลักษณะ หรือ หลักเกณฑ์การปฏิบัติ : หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (Good Manufactural Practice (GMP)) ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและแนวทางในการนำไปใช้ (Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP))
(เรียบเรียงจากเว็บไซต์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 12 เมษายน 2562
ขอบคุณที่มา: http://www.sp2solutions.com/2019/04/q-mark.html)

มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์
โดย กรมวิชาการเกษตร
เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดูแลความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและคุณภาพน้ำด้วยอินทรียวัตถุ ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ รวมทั้งปัจจัยการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาจากการดัดแปรสารพันธุกรรมและไม่ผ่านการฉายรังสี ตลอดจนการเปลี่ยนจากระบบการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีมาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์จะต้องมีช่วงระยะเวลาการปรับเปลี่ยน
อย่างน้อย 12 เดือน

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่ตั้งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM)
โดย สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) เป็นหน่วยงานของมูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นองค์กรของภาคเอกชนไทย
มกท. มีมาตรฐานครอบคลุมเรื่องการผลิตพืชอินทรีย์ การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ การเก็บผลิตผลจากธรรมชาติ การผลิตปัจจัยการผลิตเพื่อการค้า การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ รายการอาหารอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์ และการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งทำให้ มกท. สามารถให้บริการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตในระดับฟาร์ม การนำผลิตผลจากฟาร์มมาแปรรูปในโรงงาน และจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป

กระทรวงเกษตรสหรัฐ
(ในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)ให้บริการ)
สินค้าที่สามารถปิดฉลากว่าเป็น organic และสามารถประทับตรา USDA Organic หรือตราจากองค์กรอื่นที่ออกประกาศนียบัตรรับรองสินค้าอินทรีย์ได้คือ สินค้าที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของส่วนผสม (คิดตามน้ำหนักหรือปริมาตรของเหลวที่ไม่รวมน้ำและเกลือ) ของสินค้านั้นๆ เป็นการผลิตตามหลักการผลิต organic ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ที่กำหนดไว้
สำหรับสินค้าที่สามารถปิดฉลากว่าเป็น organic ส่วนผสมที่เหลือจะต้องเป็นการผลิตตามหลัก organic ด้วย ยกเว้นแต่ว่าส่วนผสมนั้นๆ ไม่มีในตลาดการค้าในรูปของ organic หรือเป็นส่วนผสมที่ไม่ได้มาจากผลผลิตทางการเกษตร หรือไม่ได้ผลิตตามหลัก organic แต่ต้องมีระบุไว้ใน National List (รายชื่อส่วนผสมที่ได้รับการยอมรับและไม่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ) และต้องมีไม่เกินร้อยละ 5 ของส่วนผสมที่ไม่เป็นอินทรีย์ และจะต้องไม่มี sulfites ผสมอยู่ด้วย

มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU)
โดย สหภาพยุโรป (EU)
(ในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)ให้บริการ)
การแสดงตรามาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรปที่ถูกต้องจะต้องมีเลขรหัสหน่วยงานที่ทำการตรวจรับรองของสหภาพยุโรป ซึ่งระบุประเทศของหน่วยงานผู้ตรวจรับรองกำกับไว้ พร้อมระบุประเทศแหล่งที่มาของสินค้าอินทรีย์นั้นๆ ไว้ใต้ตรามาตรฐานด้วย
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปยังไม่อนุญาตให้ใช้คำว่า 100% Organic หรืออินทรีย์ 100% บนฉลากสินค้า คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรปได้มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ไว้หลายเรื่อง โดยข้อกำหนดที่เป็นระเบียบหลักคือ ระเบียบสภายุโรปที่ 2092/91 ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2534 และมีการออกระเบียบเพิ่มเติมอื่นๆ อีกมากมาย โดยระเบียบดังกล่าวครอบคลุมการปลูกพืช (รวมการเก็บผลผลิตจากป่าและพื้นที่ธรรมชาติ) เลี้ยงสัตว์ (รวมผึ้ง) การแปรรูป และการใช้ตรา รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับตรวจสอบรับรอง
ระเบียบสหภาพยุโรปได้ระบุถึงเกณฑ์มาตรฐานของ Codex ในการพิจารณาเรื่องความทัดเทียมของมาตรฐานและการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงเกณฑ์มาตรฐานของ Codex ในกฏระเบียบเกษตรอินทรีย์ ในฐานะของเกณฑ์อ้างอิงสำหรับการประเมินความทัดเทียม

มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM หรือ IFOAM Accredited
โดย สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM)
เป็นเครื่องหมายแสดงถึงเกษตรอินทรีย์ในขอบข่ายเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืช การเก็บผลผลิตจากป่าและพื้นที่ธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปและจัดการผลผลิต และปัจจัยการผลิตเพื่อการค้า

มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา (Canada Organic Regime – COR)
โดย Canadian Food Inspection Agency (CFIA)
เป็นเครื่องหมายแสดงถึงเกษตรอินทรีย์ในขอบข่ายเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืช การเก็บผลผลิตจากป่าและพื้นที่ธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปและจัดการผลผลิต และปัจจัยการผลิตเพื่อการค้า

มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ญี่ปุ่น (Japanese Agricultural Standard – Organic JAS mark)
โดย Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries – MAFF
เป็นเครื่องหมายแสดงถึงเกษตรอินทรีย์ในขอบข่ายเกี่ยวกับ การเพาะปลูกพืช การเก็บผลผลิตจากป่าและพื้นที่ธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปและจัดการผลผลิต และปัจจัยการผลิตเพื่อการค้า

มาตรฐานผักและผลไม้ปลอดภัยจากสารพิษ
โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มาตรฐานผักและผลไม้ปลอดภัยจากสารพิษหรือ “อนามัย” ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน Codex’s MRL และ MRL ของประเทศไทย

การรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด/ผลไม้สด
โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

PGS (Participatory Guarantee Systems) คือ ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น ที่รับรองผู้ผลิตโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนความรู้